การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายแบบการศึกษาเชิงทำนาย เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมตามการรับรู้ของผู้บริหารระดับต้น กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) จำแนกตามขนาดโรงพยาบาลและสุ่มตัวอย่างโรงพยาบาลโดยการสุ่มแบบง่าย (Simple Sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้าหอผู้ป่วยและหัวหน้างานในแผนกต่างๆจาก 38 โรงพยาบาลจำนวน 188 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคล สภาพแวดล้อมในการทำงานและพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสม โดยแบบสอบถามที่สร้างขึ้นได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน หาความเที่ยงของแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงานและพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสม โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าเท่ากับ 0.93 และ 0.94 ตามลำดับ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์แบะได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาคิดเป็นร้อยละ 90.29 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบไคสแควร์ ค่าสัมประสิทธิ์การณ์จร การทดสอบของฟิชเชอร์ ค่าสัมประสัทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบการเพิ่มตัวแปรเป็นขั้นตอน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพแวดล้อมในการทำงานตามการรับรู้ของผู้บริหารระดับต้น กลุ่มการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยรวม พบว่าอยู่ในระดับปานกลาง (=3.60 , SD=0.50) และเมื่อวิเคราะห์เป็นรายองค์ประกอบพบว่า ผู้บริหารระดับต้น กลุ่มการพยาบาลมีการรับรู้สภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนสภาพแวดล้อมทางจิตใจพบว่าอยู่ในระดับมาก (=3.44 , SD=0.55 ; =3.60 , SD=0.56 และ =3.79 , SD=0.56 ตามลำดับ)
2. ระดับพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมตามการรับรู้ของผู้บริหารระดับต้น กลุ่มการพยาบาล อยู่ในระดับมาก (=3.76 , SD=0.48)
3. วิธีการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (=9.163) และสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยรวม สภาพแวดล้อมในการทำงานทางกายภาพ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมของผู้บริหารระดับต้น กลุ่มการพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r=.470 , .453 , .439 และ .265 ตามลำดับ) ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลอื่นได้แก่ อายุ ระยะเวลาในการปฏิบัติงานด้านการบริหาร ระดับการศึกษา แผนกที่ปฏิบัติงาน และการศึกษาอบรมในหลักสูตรผู้บริหาร ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสม
4. ปัจจัยที่ร่วมกันทำนายพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมของผู้บริหารระดับต้น กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สภาพแวดล้อมในการทำงานทางจิตใจ และทางสังคม โดยสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมของผู้บริหารระดับต้น กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ร้อยละ 25.2 ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .01 และสภาพแวดล้อมในการทำงานทางจิตใจเป็นตัวทำนายพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมของผู้บริหารระดับต้น กลุ่มการพยาบาล ที่ดีที่สุด (Beta=.299) และสภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นตัวทำนายได้เป็นอันดับสอง (Beta=.265)
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ ผู้บริหารกลุ่มการพยาบาลควรพิจารณาหาแนวทางในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมต่อการพัฒนาพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมแก่พยาบาลทุกระดับ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของพยาบาลซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนางาน และพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลต่อไป
|