การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายแบบการศึกษาเชิงทำนาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการใช้กระบวนการพยาบาลในคลินิกของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศูนย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับการใช้กระบวนการพยาบาล ทัศนคติต่อการใช้กระบวนการพยาบาล ทักษะพื้นฐานในการใช้กระบวนการพยาบาลและการนิเทศการใช้กระบวนการพยาบาลของหัวหน้าหอผู้ป่วย กับการใช้กระบวนการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างพยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified random sampling) จำนวน 338 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามที่แบ่งเป็น 6 ส่วน คือ 1) ความรู้เกี่ยวกับการใช้กระบวนการพยาบาล 2) แบบวัดทัศนคติต่อการใช้กระบวนการพยาบาล 3) แบบประเมินทักษะพื้นฐานในการใช้กระบวนการพยาบาล 4) แบบประเมินทักษะพื้นฐานในการใช้กระบวนการใช้กระบวนการพยาบาล 5) แบบประเมินการนิเทศการใช้กระบวนการพยาบาลของหัวหน้าผู้ป่วย และ 6) การใช้กระบวนการพยาบาลพยาบาลในคลินิกของงพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกดฉียงเหนือ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน และวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง ส่วนที่ 2 ใช้วิธีของคูเดอร์ริชาร์ดสัน (KR – 20) และในส่วนที่ 3 , 4 , 5 และ 6 โดยหาค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.87 , 0.87 , 0.91 , 0.98 และ 0.96 ตามลำดับ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ ได้แบบสอบถามกลับคืน ทั้งหมดคิดเป็น ร้อยละ 100 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ หาค่าความสัมพันธ์ของตัวแปรโดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ระดับการใช้กระบวนการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในระดับมากทุกขั้นตอน (=4.07 , SD=0.44) โดยขั้นตอนที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดในกลุ่ม คือ การประเมินภาวะสุขภาพ (=4.30 , SD=0.46)
2. ปัจจัยด้านทัศนคติต่อการใช้กระบวนการพยาบาล ทักษะพื้นฐานในการใช้กระบวนการพยาบาล และการนิเทศการใช้กระบวนการพยาบาล มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการใช้กระบวนการพยาบาลในคลินิกของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 (r = .299 , r = .676 , r = .418ตามลำดับ) ส่วนความรู้เกี่ยวกับการใช้กระบวนการพยาบาล ไม่มีความสัมพันธ์กับการใช้กระบวนการพยาบาลในคลินิกของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3. ตัวแปรที่สามารถร่วมกันทำนายการใช้กระบวนการพยาบาลในคลินิกของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คือทักษะพื้นฐานในการใช้กระบวนการพยาบาล การนิเทศการใช้กระบวนการพยาบาลของหัวหน้าหอผู้ป่วยและทัศนคติต่อการใช้กระบวนการพยาบาล โดยสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของการใช้กระบวนการพยาบาลได้ร้อยละ 50.6 ได้สมการทำนายในรูปคะแนนมาตรฐาน ดังนี้
Z = 0.583 (ทักษะพื้นฐานในการใช้กระบวนการพยาบาล) + 0.212 (การนิเทศการใช้กระบวนการพยาบาลของหัวหน้าหอผู้ป่วย) + 0.100 (ทัศนคติต่อการใช้กระบวนการพยาบาล)
|